สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดเวที “อินโนฟอร์ฟาร์มเมอร์” จับคู่ 10 สตาร์ทอัพสายเกษตร

กรุงเทพฯ 1 ตุลาคม 2563สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการ Inno4Farmers จับคู่สตาร์ทอัพสาย Deep Tech หรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรเชิงลึกกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 10 ราย เพื่อส่งต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร และแก้ปัญหาของธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร อาทิ การลดความสูญเสีย การยกระดับการผลิต พร้อมขยายโมเดลธุรกิจดังกล่าวให้เติบโตในอนาคต นอกจากนี้ ยังมุ่งดัน 3 เทคโนโลยีสำคัญที่จะเป็นอนาคตของเกษตรกรรมในประเทศไทย ได้แก่ เทคโนโลยี Artificial Intelligent หรือ AI การใช้ BigData, IoT และ Sensors รวมถึง ระบบโดรน (Drone) และหุ่นยนต์ (Robotics)

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า โครงการ Inno4Farmers เป็นโครงการที่ NIA ต้องการที่จะพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่อยู่ในประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่ง และมุ่งยกระดับเทคโนโลยีที่กำลังดำเนินการอยู่ไปสู่เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) โดยขณะนี้มีสตาร์ทอัพที่ผ่านการพัฒนาโครงการ 10 ราย ซึ่ง NIA ได้เตรียมผลักดันให้สตาร์อัพเหล่านี้ให้มีการขยายโมเดลการทำธุรกิจแบบ B2C ไปสู่ B2B ด้วยการจับคู่กับสตาร์ทอัพกับบริษัทพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ 10 แห่ง เพื่อให้มีโอกาสทำงานร่วมทำงานกันอย่างเข้มข้น พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหา (Pain Points) ของภาคเกษตร ทั้งนี้ สตาร์ทอัพทั้งหมดได้รับคำแนะนำจากบริษัทพันธมิตรที่ร่วมโครงการและเสริมกำลังความรู้ทั้งทางด้านเทคนิค กลยุทธ์ทางธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากนี้จะทำให้สตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมสามารถตอบโจทย์ Pain points ในภาคเกษตรได้อย่างตรงจุด เกิดโมเดลธุรกิจที่เป็นรูปธรรมและต่อยอดได้จริง และทำให้สตาร์ทอัพในกลุ่มนี้มีความเข้าใจในธุรกิจเกษตรตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงสามารถนำโมเดลที่ได้ไปต่อยอดขยายธุรกิจได้จริง

“สำหรับการดำเนินโครงการนี้ NIA มุ่งเน้นส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงลึก 3 กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยี Artificial Intelligent หรือ AI การใช้ BigData, IoT และ Sensors รวมถึง ระบบโดรน (Drone) และหุ่นยนต์ (Robotics) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ถือว่ามีความเหมาะสมต่อบริบทการเกษตรในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีความพร้อมทั้งในการนำเอาฐานข้อมูลด้านเกษตรกรรมที่มีอยู่จำนวนมากมาพัฒนา ส่วน AI ก็สามารถต่อยอดได้จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ ยิ่งถ้ามีการป้อนข้อมูลให้ระบบเรียนรู้มากขึ้นเท่าไหร่    จะยิ่งทำให้ระบบมีความฉลาดและแม่นยำเท่านั้น ถัดมาที่ Sensors ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้ควบคู่ไปกับการเกิดขึ้นของ 5G ระบบคลาวด์ สังคม – ธุรกิจที่ต้องการความแม่นยำ และการรายงานผลแบบเรียลไทม์ รวมถึงสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทยที่ไม่สามารถควบคุมได้และไม่มีความแน่นอน และในส่วนสุดท้ายคือหุ่นยนต์ก็มีความจำเป็นอย่างมากในมิติของการทำงานแทนมนุษย์โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ รวมถึงรองรับการลดลงของแรงงานภาคเกษตรที่คาดว่าจะมีจำนวนไม่มากเท่ากับในปัจจุบัน”

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือของเอกชนในครั้งนี้ถือว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เนื่องจากธุรกิจด้านการเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศไทย ล้วนกำลังมองหาเทคโนโลยีเชิงลึกที่จะเข้ามาส่งเสริมระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมองหานวัตกรรมที่จะช่วยลดความสูญเสีย และการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่ผ่านมา ดังนั้น NIA จึงได้ทำการจับคู่ (Matching) สตาร์ทอัพกับธุรกิจนวัตกรรมเกษตรทั้ง 10 ราย ตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละธุรกิจ

ประกอบด้วย 1.บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด และบริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจข้าว กับทีมสตาร์ทอัพ EASY RICE ผู้พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพข้าวด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 2.บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจปศุสัตว์ กับทีมสตาร์ทอัพ HyPerm&CheckMate ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม AI สำหรับการตรวจวัดคุณภาพของตัวอสุจิ และตรวจจับภาวะเป็นสัดในปศุสัตว์ 3.บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มครบวงจร กับทีมสตาร์ทอัพ Novy Drone อากาศยานไร้คนขับสำหรับการตรวจสอบป้องกันโรคและศัตรูพืช 4.บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจมันสำปะหลัง กับทีมสตาร์ทอัพ BSFR TECH เครื่องวัดปริมาณแป้งและคุณภาพของหัวมันสำปะหลังในแปลงปลูกแบบไม่ทำลายชนิดพกพา 5.บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำตาล กับทีมสตาร์ทอัพ Rodai Smart Farm เซ็นเซอร์วัดความชื้นในดินที่มีความแม่นยำสูงและทนทานต่อการใช้งาน 6.บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตข้าวโพดหวาน กับสตาร์ทอัพทีม OZT Robotics ผู้พัฒนาระบบ AI เพื่อตอบโจทย์ทางการเกษตร 7.บริษัท มานิตย์เจเนติกส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจฟาร์มสัตว์น้ำ กับทีมสตาร์ทอัพ Artificial anything เซ็นเซอร์แม่นยำสูงเพื่อตรวจสอบสารปนเปื้อนในของเหลวด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 8.บริษัท เอซีเคไฮโดรฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตผักสลัด กับทีมสตาร์ทอัพ Energy of Thing ระบบประหยัดพลังงานไฟฟ้าสำหรับการเกษตร และ 9.บริษัท เกษมชัยฟู๊ดส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจฟาร์มเป็ดและไก่ กับสตาร์ทอัพทีม UpSquare ระบบควบคุมการเลี้ยงไก่ไข่แบบอัตโนมัติ

ทั้งนี้ การบ่มเพาะสตาร์ทอัพในครั้งนี้จะเน้นไปที่การเชื่อมต่อทางธุรกิจที่จะเกิดการร่วมมือกันทำงานระหว่างสตาร์ทอัพและองค์กรพันธมิตรชั้นนำในภาคเกษตร ทำให้สตาร์ทอัพสายเกษตรได้พิสูจน์ผลงาน ได้ลงมือทำงานจริงกับลูกค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันองค์กรที่ร่วมโครงการก็จะได้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงสร้างระบบนิเวศและต่อยอดธุรกิจ และที่สำคัญยิ่งคือ การสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาตอบโจทย์ให้กับเกษตรกร ก่อให้เกิดพลิกโฉมการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาล ดร.กริชผกา กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand”

กานต์ เหมสมิติ รายงาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *